วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

วัสดุที่ใช้ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์

ใบความรู้ที่ 2
เรื่อง วัสดุที่ใช้ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์

ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ในแต่ละท้องถิ่นจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันไปและมีทรัพยากรบางชนิดที่ไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์หรือถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย หากประชาชนแต่ละท้องถิ่นได้ศึกษาค้นคว้าและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติประเภทพืช สัตว์และแร่ธาตุอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ผลผลิตทั้งหลายที่เกิดจะช่วยเสริมสร้างสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ชุมชน และประเทศได้
วัสดุ คือ วัตถุที่นำมาใช้งาน วัสดุที่ใช้ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์มีมากมายหลายชนิด แต่ในที่นี้จะขอแบ่งตามลักษณะที่เด่นชัดของวัสดุ มี 3 ชนิด ได้แก่
1. วัสดุธรรมชาติ
2. วัสดุสังเคราะห์
3. วัสดุเหลือใช้หรือเศษวัสดุ
1. วัสดุธรรมชาติ จำแนกได้เป็น 3 ประเภท
1.1 วัสดุธรรมชาติ ประเภทพืช ได้แก่ ต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น
ฟางข้าว มีจำนวนมากในแต่ละครั้งของการเก็บเกี่ยว มีการนำฟางข้าวมาใช้ในงานประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น นำไปยัดเป็นไส้แทนนุ่นในหมอนขิดรูปสามเหลี่ยม ทำตะกร้า พวงหรีด หุ่นฟางนก มุงหลังคากันแดด เป็นต้น
มะพร้าว ในประเทศไทย สามารถปลูกมะพร้าวได้เกือบทุกจังหวัด แต่บริเวณที่มีการเพาะปลูกอย่างหนาแน่นคือบริเวณจังหวัดทางภาคใต้ มะพร้าวที่ปลูกในประเทศไทยมีหลายสายพันธุ์ เช่น มะพร้าวใหญ่ มะพร้าวกลาง มะพร้าวหมูสี เป็นต้น มีการนำส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวมาใช้ใน งานประดิษฐ์ เช่น กะลามะพร้าวนำมาประดิษฐ์ ซออู้ กระบวยตักน้ำ กระปุกออมสิน ใบสานปลาตะเพียน เป็นต้น กล้วย เป็นไม้ล้มลุกที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปทุกพื้นที่ พันธุ์กล้วยในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยตานี กล้วยไข่ เป็นต้น ประโยชน์ของกล้วย นำมาใช้ใน งานประดิษฐ์ เช่น ใบตองนำมาประดิษฐ์ กระทง บายศรี ปอกล้วยนำมาประดิษฐ์ กระเป๋า เก้าอี้ ก้านกล้วยนำมาประดิษฐ์ของเล่น เช่น ม้าก้านกล้วย ปืน เป็นต้น

ผักตบชวา เป็นพืชน้ำเจริญเติบโตโดยไม่ต้องยึดเกาะ แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว และเป็นวัชพืชที่สร้างความเสียหายให้กับแม่น้ำลำคลองอย่างมาก มีผู้นำผักตบชวามาเป็นวัสดุใช้ในงานประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น ตะกร้า หมวก ถาดใส่ผลไม้ เป็นต้น

กระจูด เป็นพืชล้มลุกจำพวกเดียวกับต้นกก ลำต้นกลม สีเขียวเข้ม ภายในลำต้นกลวงเป็นปล้อง เมื่อโตเต็มที่ลำต้นของกระจูดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ขึ้นอยู่ทุกภาคของประเทศ แต่ที่มีหนาแน่นทางภาคตะวันออกและภาคใต้ ต้นกระจูดนำมาประดิษฐ์เครื่องใช้ภายในบ้านได้หลายชนิด เช่น เสื่อ กระเป๋า หมวก ของชำร่วย เป็นต้น
ยางพารา เป็นไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกกันมากทางภาคใต้และภาคตะวันออก ต้นยางพารานอกจากจะให้ประโยชน์ น้ำยางพารา นำไปใช้ประดิษฐ์เป็น ยางมัดของ ยางลบ ยางรถยนต์ ถุงมือยาง เป็นต้น ต้นสามารถนำมาแปรรูปเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ และใช้ใบยางพารามานำมาประดิษฐ์ ดอกไม้ต่าง ๆ พวงกุญแจ เป็นต้น

ไม้ไผ่ เป็นพืชที่ขึ้นง่ายโตเร็ว ตายยากและขยายพันธุ์ได้ง่าย พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยได้แก่ ไผ่สีสุก ไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่ป่า เป็นต้น ไผ่เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน มีการนำไม้ไผ่มาสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น ร่ม โคมไฟออมสิน เข่ง สุ่ม ที่ใส่ทิชชู แพ เป็นต้น

เปลือกข้าวโพด ข้าวโพดเป็นพืชไร่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เมื่อจำหน่ายผลผลิตข้าวโพดจะต้องปอกเปลือกทิ้ง แต่ปัจจุบันสามารถนำเปลือกข้าวโพดมาประดิษฐ์ตุ๊กตาและดอกไม้ต่าง ๆ เช่น ดอกกุหลาบ ดอกไม้จันทน์ ใช้เป็นเกสรดอกไม้ เป็นต้น
1.2 ประเภทสัตว์ ได้แก่
ไหม ไหมเป็นเส้นใยที่ได้จากรังไหม ผ้าที่ผลิตจากใยไหมมีความสวยงาม มัน หรูหรา ราคาแพง นิยมนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อสูท กระเป๋า ผ้าพันคอและรังไหมนำมาประดิษฐ์ ดอกไม้ ตุ๊กตา เป็นต้น
เปลือกไข่ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่นิยมบริโภคกันทุกครัวเรือน เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่ห่าน ไข่นกกระทา และ ไข่นกกระจอกเทศ ปัจจุบัน มีการนำเปลือกไข่มาสร้างเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมายเช่นนำมาประดิษฐ์ ตุ๊กตา ระบายสีลงบนเปลือกไข่ เครื่องประดับ
เปลือกหอย มีทั้งหอยทะเลและหอยน้ำจืดซึ่งมีรูปแบบสีสัน ขนาดและผิวแตกต่างกันออกไป มีการนำเปลือกหอยมาสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น โคมไฟ พวงกุญแจ เครื่องแขวน (โมบาย) เครื่องประดับ กรอบรูป เป็นต้น
เกล็ดปลาเกล็ดปลา ปลาเป็นอาหารของมนุษย์ เกล็ดปลา ที่ขอดออกจะถูกทิ้งไป เกล็ดปลามีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความเงา แวววาว สวย และมีประกายมุก ได้มีการ นำเกล็ดปลามาประดิษฐ์เป็น ดอกไม้ เข็มกลัด กรอบรูป
ขนสัตว์ ขนสัตว์ที่นิยมนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ หรือเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือนและเสื้อผ้า เช่น ขนแกะ ขนห่าน ขนนก นกกระจอกเทศ ขนกระต่าย เป็นต้น
1.3 ประเภทแร่ธาตุต่าง ๆ ได้แก่
ดินขาว ดินขาวเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก ที่นำมาประดิษฐ์เป็น ถ้วย ชาม แจกัน และเครื่องประดับ เป็นต้น
หิน ก้อนหินมีอยู่มากมายหลายชนิดแต่ละชนิดมีรูปร่างลักษณะ สีสันและลวดลายที่สวยงามแตกต่างกัน หิน นำมาประดิษฐ์เป็น ที่ทับกระดาษ เครื่องประดับ หินแกะสลัก เป็นต้น
ทราย ทรายเกิดจาก
หินที่ถูกย่อยเป็นเม็ดละเอียด ซึ่งหมายถึงทรายทั่วๆไปที่เราพบเห็นตามชายหาด มีการนำทรายมาใช้ประดิษฐ์ตกแต่งกรอบรูป ผสมปูนทำเป็นของเล่นและของใช้ เป็นต้น
อัญมณีต่าง ๆ เป็นแร่ที่มีคุณค่าหรือ ลักษณะที่เมื่อนำมาเจียระไนหรือขัดมัน แล้วสวยงาม เป็นเครื่องประดับได้ อาจจะมีค่าสูงมากนับตั้งแต่ เพชร ทับทิม มรกต สำหรับผู้ที่หลงรักอัญมณีหลากสี สีมีอิทธิพลในการสื่อความหมาย และบุคลิกของผู้ที่สวมใส่ ดังนั้นแวดวงเครื่องประดับและนักออกแบบจึงผสมผสานสีสันต่างๆ ออกเป็นชิ้นงาน มีการนำเอาอัญมณีสีสันหลากสีเข้ามาผสมผสานในตัวเรือนแหวน สร้อย นาฬิกา เข็มกลัด เป็นต้น
ดินขาว
หิน
ทราย
อัญมณี
2. วัสดุสังเคราะห์หรือวัสดุที่ถูกปรุงแต่งขึ้นใหม่
วัสดุสังเคราะห์หรือวัสดุที่ถูกปรุงแต่งขึ้นใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ที่เกิดจากการสังเคราะห์สารเคมีหรือวัสดุธรรมชาติด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ การนำวัสดุสังเคราะห์มาใช้ในการสร้างประดิษฐ์ผลงาน ควรเลือกใช้วัสดุที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายดังต่อไปนี้
พลาสติก พลาสติก เป็นสารสังเคราะห์ประเภทโพลีเมอร์ มีลักษณะอ่อนตัวในขณะผลิตหรือใช้ความร้อนทำให้อ่อนตัว สามารถนำไปหล่อ อัดหรือฉีดเป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น นำมาประดิษฐ์ ท่อน้ำ เก้าอี้ ถุงใส่ของ ขวด ถ้วยชาม รถของเล่น ถังน้ำ ลูกปัด กระเบื้องยาง เชือกไนลอน เป็นต้น
กระดาษ กระดาษ เป็นวัสดุที่สังเคราะห์ได้จากเนื้อไม้ มีหลายชนิด หลายลักษณะ เช่น กระดาษแข็ง กระดาษอ่อน กระดาษเรียบ กระดาษมัน เป็นต้น งานกระดาษที่พบเห็นกันทั่วไปได้แก่ กล่อง ภาพประดับผนัง กรอบรูป โคมไฟ เป็นต้น

เส้นใยสังเคราะห์ เป็นเส้นใยที่ประดิษฐ์ขึ้นจากพืชเรียกว่า ใยเซลลูโลสและ เส้นใยที่ประดิษฐ์ขึ้นจากสัตว์ที่เรียกว่า ใยโปรตีน รวมทั้งจากสารเคมี เส้นใยสังเคราะห์มีมากมายหลายชนิด เช่น อะคลิลิก โพลีอะไมด์ วินยอน โพลีเอสเตอร์ เป็นต้น เส้นใยที่นิยมนำมาทำเป็นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายมีหลายชนิด มีคุณสมบัติแตกต่างกันเช่น ใยโพลีอะไมด์ นิยมนำมาทำพรม เต็นท์ ผ้าตัดชุดชั้นใน ชุดกีฬา ร่ม เป็นต้น ใยโพลีเอสเตอร์ ไนลอน นิยมนำมาทอผสมกับใยฝ้ายนำไปตัดเสื้อ กระโปรง กางเกง เป็นต้น
เส้นใยสังเคราะห์
เส้นใยสังเคราะห์
เชือกในลอน
ผ้าโพลีเอสเตอร์
ไหมพรม
3. วัสดุเหลือใช้หรือเศษวัสดุ
วัสดุเหลือใช้หรือเศษวัสดุเป็นวัสดุที่เหลือใช้จากการสร้างงานอื่น ๆ วัสดุทั้งที่เป็นวัสดุธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ใช้ไม่ได้ตามวัตถุประสงค์แล้ว มักจะมี เศษชิ้นส่วนเหลืออยู่แต่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่เช่น
เศษผ้า เศษผ้าที่เหลือมาจากการตัดเย็บเสื้อผ้า นำมาประดิษฐ์เป็น พรหมเช็ดเท้า กระเป๋าสตางค์ ที่รองจาน เป็นต้น
เศษไม้ เศษไม้ที่เราทิ้งหลังจากการใช้งานแล้ว เช่น ไม้ไอศกรีม ไม้เสียบลูกชิ้น เศษไม้เหลือจากการใช้ประโยชน์ นำมาประดิษฐ์เป็น เครื่องเรือน ไม้แกะสลัก ที่ใส่ปากกา กรอบรูป เป็นต้น
เศษกระดาษ เศษกระดาษที่เราไม่ใช้แล้วเช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ สมุดโทรศัพท์ นำมาประดิษฐ์ ดอกไม้ประดิษฐ์ ตะกร้า กระเป๋า โคมไฟกระดาษ กล่องของขวัญ เป็นต้น
เศษพลาสติก เศษพลาสติกประเภทหลอดกาแฟ ถุงพลาสติกหรือขวดพลาสติก สามารถนำมาประดิษฐ์ดัดแปลงเป็น มู่ลี่ กล่องดินสอ กระป๋องออมสิน ตุ๊กตา เป็นต้น
เศษโลหะ เศษโลหะที่ใช้ประโยชน์อื่นไม่ได้แล้วเช่น กระป๋อง ฝาน้ำอัดลม ตะปูนำมาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ นาฬิกา เชิงเทียน เป็นต้น

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

งานประดิษฐ์น่ารู้



ใบความรู้ที่ 1.1
ความหมาย ความเป็นมา ประโยชน์ของงานประดิษฐ์

1.1 ความหมายของงานประดิษฐ์
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้คำจำกัดความของคำที่เกี่ยวข้องดังนี้
งาน หมายถึง น. สิ่งหรือกิจกรรมที่ทำ, มักใช้เข้าคู่กับคำ การ เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน; การพิธีหรือการรื่นเริงที่คนมาชุมนุมกันเช่น งานบวช งานปีใหม่.
ประดิษฐ์ หมายถึง ก. ตั้งขึ้น, จัดทำขึ้น, คิดทำขึ้น, สร้างขึ้น, แต่งขึ้น. ว. ที่จัดทำขึ้นให้เหมือนของจริง เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์, ที่คิดทำขึ้นไม่เหมือนธรรมชาติ เช่น ลายประดิษฐ์.

งานประดิษฐ์ หมายถึง งานที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ สร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย อาจเป็นเพียงเพื่อความสวยงามหรือประดับตกแต่งหรือเพื่อประโยชน์ใช้สอยหรือรวมหลาย ๆ วัตถุประสงค์

งานประดิษฐ์เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

1.2 ความเป็นมาของงานประดิษฐ์
งานประดิษฐ์เป็นผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่มีการพัฒนาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา มนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของโลกเพราะมีสมองที่สามารถคิดในแง่ของการสร้างสรรค์และสามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาได้ตามยุคสมัย โดยดูได้จากในอดีต มนุษย์ไม่มีเครื่องแต่งกาย ต่อมาจึงได้คิดค้น นำ วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบไม้หรือหนังสัตว์ ใช้นุ่งห่มและพัฒนาเส้นใยต่าง ๆ ประดิษฐ์เป็น สิ่งทอ เครื่องร่อนพัฒนาเป็นเครื่องบิน รถไม้พัฒนาเป็นรถยนต์ เป็นต้น






ผลงานที่เกิดจากงานประดิษฐ์ เราเรียกว่า สิ่งประดิษฐ์ (Invention) สิ่งประดิษฐ์ หรือ
นวัตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากความฉลาดหรือบังเอิญ ผู้ที่ประดิษฐ์สิ่งของ เรามักจะเรียกว่า นักประดิษฐ์ (Inventor) สิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้นเพราะมนุษย์เป็นผู้สร้าง ผู้พัฒนา ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลงาน ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่มีอยู่ในแต่ละบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อสนองความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ
1.3 ประโยชน์ของงานประดิษฐ์
มนุษย์เป็นนักพัฒนาสิ่งประดิษฐ์
1. เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และประหยัดค่าใช้จ่าย บางคนมีความสุขในการประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ด้วยตนเอง ผู้ประดิษฐ์ มีความภูมิใจในผลงานของตนเอง และยังประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องซื้อหาให้สิ้นเปลือง
2. ผลงานจากงานประดิษฐ์มีประโยชน์ใช้สอยได้หลายอย่างเช่น เป็นของเล่น ของใช้ หรือของประดับตกแต่ง ยังสามารถนำไปใช้เป็นของขวัญ ของที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ
3. เป็นการสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้ประดิษฐ์ ซึ่งจะส่งผลดีทางด้านอารมณ์และมีความสุขในการดำเนินชีวิต
4. มีประโยชน์ในการสร้างสมาธิ ทำให้ผู้ประดิษฐ์มีจิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และประสบความสำเร็จในการทำงาน
5. มีประโยชน์ในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เช่น การประดิษฐ์พานพุ่ม บายศรี มาลัย กระทงใบตอง เป็นต้น
6. มีประโยชน์ต่อการสร้างทักษะฝีมือในการประดิษฐ์เพื่อพัฒนาไปสู่การนำ
ผลงานออกจำหน่ายเสริมสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและเป็นแนวทางในการประกอบเป็นอาชีพหลักได้
7. มีประโยชน์ต่อการฝึกวางแผนการทำงานและการทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน